พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๖
โดยดัดแปลงมาจากอักษรไทยเดิมและอักษรขอมหวัด
อักษรที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดขึ้นนั้นมีลักษณะแตกต่างจากอักษรปัจจุบัน
อยู่บ้าง ต่อมาสมัยพระมหาธรรมราชาลิไททรงเปลี่ยนแปลงอักษร
ในบางประการแต่ยังคงลักษณะใกล้เคียง
แบบตัวอักษรที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงวางไว้
ครั้งถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงปฏิรูป
การเขียนอักษรหลายอย่าง เช่น มีการใช้ไม้ทันอากาศแทนการเขียนอักษรซ้อน
มีการเพิ่มอักษรใหม่บางตัว เป็นต้น แต่ก็ไม่ทำให้อักษรไทย
เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็ยังคงใช้ตัวอักษรเหมือน
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแต่เพิ่มเครื่องหมายวรรณยุกต์ครบทั้ง ๔ รูป
ตัวอักษรไทยสมัยรัชกาลที่๑ เป็นแบบอย่างการเขียนตัวอักษรเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาสมัยหลัง ๆ ได้มีผู้คิดลักษณะอักษรและวิธีเขียนตัวอักษรแบบใหม่ ๆ
อีกหลายวิธี แต่ไม่ได้รับความนิยม การที่แต่ละยุคแต่ละสมัย
ได้พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวอักษรก็เพื่อความสะดวกในการเขียน
ปัจจุบันการเขียนหนังสือไทยจะต้องเป็นไปตามระเบียบการใช้ตัวสะกด
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ซึ่งอาจมีการแก้ไขปรับปรุงในการพิมพ์แต่ละครั้ง